เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.57 แถลงข่าว "ความเป็นจริงด้านแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งไทย"

 

 

ความจริงเรื่องกุ้งไทย

 

     ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งรายใหญ่ของโลกติดต่อกันมานานหลายปี  โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ลูกค้าให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจในคุณภาพกุ้งไทย ที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงโดยเกษตรกรไทยที่มีความรับผิดชอบสูง  ผ่านการแปรรูปจากแรงงานฝีมือดี อุตสาหกรรมกุ้งกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องหลายแสนคน

 

     ล่าสุดนี้  มีข้อกล่าวหาจากสื่อและองค์กรอิสระต่างชาติ ว่ามีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสในห่วงโซ่การผลิตกุ้งไทย ตัวแทนสมาคมที่เกี่ยวข้อมทั้ง 4 สมาคม ขอนำเสนอความจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

     1. สมาคมแช่เยือกแข็งไทย

     ผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งจากประเทศไทยทุกราย เป็นสมาชิกของสมาคมฯ โรงงานสมาชิกต้องมีระบบ GMP/HACCP เพื่อควบคุมด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารหน่วยงานหลักที่ดูแลคือกรมประมง  นอกจากนี้ ลูกค้าต่างประเทศยังกำหนดให้โรงงานทำการตรวจรับรองด้านความรับผิดชอบต่อสังคม คือ การรักษาสภาพแวดล้อม และการปฎิบัติต่อคนงาน โดยใช้หน่วยงานอิสระในการตรวจ และล่าสุดกระทรวงแรงงานร่วมกับกรมประมง จัดทำโครงการ GLP (Good Labor Practice) โดยมีหน่วยงาน ILO เป็นที่ปรึกษาและดำเนินการร่วมกับสมาชิกสมาคมมาระยะหนึ่งแล้ว

     ในด้านปัญหาแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ สมาคมได้ทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐฯทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โรงงานที่ฝ่าฝืนระเบียบด้านมาตรฐานจริยธรรมจะถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก ผลงานที่เห็นได้คือ ในรายงาน TIPs Report ล่าสุดนี้ มีการกล่าวถึงกรณีกุ้งเพียงจุดเดียว คือ โรงแกะกุ้งที่ถูกดำเนินคดีในปี 2009

     2. สมาคมกุ้งไทย

     สหรัฐฯกำหนดให้กุ้งที่นำเข้าจากไทยทั้งหมดต้องมาจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ประเทศไทยเป็นผู้บุกเบิกด้านการเลี้ยงกุ้ง มีประสบการณ์กว่าสามสิบปี การเพาะเลี้ยงได้เปรียบจากการจับจากทะเลมาก ทั้งในด้านต้นทุนต่ำ และใช้ทรัพยากรน้อยกว่า เกษตรกรเลี้ยงกุ้งเป็นผู้เล่นหลักในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ของอุตสาหกรรมกุ้ง และยังมีระบบตรวจสอบ GAP (Good Aquaculture Practice) เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม

     ภาคเกษตรกรผู้เลี้ยง ไม่เคยมีปัญหาด้านแรงงานเด็กและแรงงานบังคับแต่อย่างใด

     3. สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย

     สมาชิกของสมาคมฯมีเพียง 14 ราย ที่ผลิตอาหารกุ้งในปัจจุบัน ยอดขายอาหารกุ้งอยู่ที่ 350,000 ตันต่อปี ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ปลาป่นเพียง 100,000 ตัน โดยมีส่วนประกอบอื่นเช่น กากถั่วเหลืองจากการนำเข้า เป็นต้น สมาชิกสมาคมฯซื้อปลาป่นในประเทศจากสมาชิกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ที่ตรวจสอบได้

 

     4.สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย

 

     ปัจจุบันมีสมาชิก 74 ราย ใช้วัตถุดิบจากโรงงานแปรรูปปลาและจากเรือประมงในประเทศ ปลาป่นที่จะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารกุ้งต้องมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่สูง โดยโรงงานอาหารสัตว์จะให้ราคาสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป ซึ่งสำหรับความต้องการปีละ 100,000 ตันเพื่อทำอาหารกุ้งนี้ 65,000 ตันจากโรงงานแปรรูปปลา ส่วนใหญ่เป็นปลานำเข้าเช่น ทูน่า ที่เหลืออีก 35,000 ตัน ซื้อจากเรือที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

 

     ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดย สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับทุกรูปแบบ เราให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐฯอย่างเต็มที่ เพื่อขจัดขบวนการค้ามนุษย์ ไม่เพียงในวงการของเราเท่านั้น ต้องให้ครอบคลุมทั่วทุกอุตสาหกรรม

 

     สำหรับผลงานที่เราได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เราอยากประกาศความจริงให้เป็นที่รู้จักทั่วกันว่า "ไม่มีแรงงานทาสมาเกี่ยวข้องในวงการกุ้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น"