ยืดจับตังเก ให้ขึ้นทะเบียนถึง 31กค. รัฐบาลยันเร่งแก้‘ไอยูยู’

 

     หอค้า4จว.ขอเวลา2เดือนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นประธานประชุม ศปมผ. ครั้งที่ 9 เพื่อติดตามผลการดำเนินการของศปมผ. รวมถึงการชี้แจงผลการตรวจและข้อสังเกตของคณะสหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่อียูให้ข้อสังเกต พร้อมกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จ

 

ขึ้นทะเบียนเรือประมงถึง31กค.

 

     หลังประชุม พล.ร.อ.ไกรสรแถลงว่า ศปมผ.มอบหมายให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ.ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมวิเคราะห์และจัดทำเป็นแผนให้เห็นว่า ประเทศไทยสมควรที่จะมีจำนวนเรือประมงและชนิดเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างไร เพื่อให้การทำประมงยั่งยืน รวมทั้งให้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นำข้อมูลจำนวนเรือประมงที่สำรวจได้เสนอที่ประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้เห็นภาพรวมและใช้เป็นฐานข้อมูลกำหนดค่าผลการจับสัตว์น้ำสูงสุดที่ยั่งยืน และให้ศรชล.โดยส่วนควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (พีไอพีโอ) ร่วมกับสมาคมประมงต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของเรือที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนในการสำรวจเรือประมงที่ผ่านมา เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31กรกฎาคมนี้

 

จี้ส่งแผนปฎิบัติการแห่งชาติ9กค.

 

     พร้อมทั้งให้คณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (เอ็นพีโอเอ-ไอยูยู) นำส่งร่างแผนฯให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ.ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม อีกทั้ง ให้คณะทำงานปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับจัดทำกระบวนการและขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้เห็นภาพรวมการปฏิบัติ และนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป

 

เร่งแก้ไอยูยูก่อนอียูประเมินตค.

 

     นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯเปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า มาตรการหลักขณะนี้คืบหน้าในหลายส่วน ทั้งเรื่องออกกฎหมาย ทำแผนแก้ปัญหาไอยูยูระดับชาติ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเจรจาร่วมกับทางอียูว่ายังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือมีเงื่อนไขใดที่ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่ขณะนี้มาตรการเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งดำเนินการให้เคร่งครัดและเข้มงวดคือ ควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยจริงใจแก้ปัญหาไอยูยู คาดว่าช่วงเดือนสิงหาคม อียูจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บข้อมูลก่อนจะประเมินผลการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยประมาณเดือนตุลาคม

 

     ดังนั้น ขอความร่วมมือผู้ประกอบการประมงมาแจ้งขึ้นทะเบียนเรือขออนุญาตการทำประมงโดยใช้เครื่องมือทำประมง การใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีครบทั้งสามส่วนนี้แล้วก็สามารถออกทำประมงได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนสามารถไปยังจุดให้บริการแบบ one stop service ได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม หลังจากนี้ก็ยังสามารถติดต่อกับกรมเจ้าท่าและกรมประมงได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

 

“บิ๊กป้อม”ย้ำต้องทำให้ถูกกม.

 

     ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหมยืนยันว่า รัฐบาลจำเป็นบังคับใช้กฎหมายควบคุมประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้น เรือที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือไม่มีอาชญาบัตรถูกต้องต้องหยุดเดินเรือ ส่วนปัญหาที่ระบุขึ้นทะเบียนไม่ทันนั้น ที่ผ่านมากองทัพเรือจัดเรือทำศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสให้บริการจดทะเบียนในทะเล ช่วยเหลือทุกอย่าง ดังนั้น ต้องทำตามกฎหมายตามหลักสากล ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้

 

เมินเสียแนวร่วมชี้ส่วนใหญ่เข้าใจ

 

     ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีมาตรการปิดอ่าว เพื่อฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่มี ถ้าเรือออกไปตามกำหนดของจำนวนเรือที่จดทะเบียน โดยผบ.ทร.คำนวณแล้วว่าจำนวนเรือที่ขึ้นทะเบียนเหล่านั้นไม่มีปัญหา สามารถทำประมงได้ เชื่อว่าสัตว์น้ำก็จะเพิ่มขึ้น จากขณะนี้ที่ปริมาณปลาในทะเลลดลงเหลืออยู่ 20%

 

     “ยืนยันการบังคับใช้กฎหมายจริงจังไม่กลัวเสียแนวร่วม เพราะถ้าคนเข้าใจกฎหมายและเข้าใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีทางเสียแนวร่วมแน่นอน อีกทั้ง คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลและผบ.ทร.ดำเนินการ เชื่อว่าทุกอย่างไม่มีปัญหา ที่ผ่านมารัฐบาลให้เวลาเรือประมงที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนมาหลายเดือน แต่เมื่อเขาไม่สนใจก็ต้องได้รับผลกระทบแบบนี้”พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

“ธรณ์”ติงอย่าคุมแค่อาชญาบัตร

 

     ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย โดย ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลปรับปรุงให้เป็นไปตามกติกา เพื่อลดแรงกดดัน สะสางปัญหาที่สะสมมานานทั้งเรื่องแรงงาน และการควบคุมเรือประมง แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่อาชญาบัตร เพราะมีจำนวนมากที่ไม่มีหรือผิดประเภท ทำให้เรือจำนวนมากหยุดทำประมง เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐพิจารณา

 

     “ความคิดเห็นของผมคือ ให้ยึดวิชาการเป็นหลัก กลับไปยึดยุทธศาสตร์ประมงแห่งชาติครั้งแรกๆ ต้องไปพัฒนาการเพาะเลี้ยงที่ถูกกฎหมาย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เน้นส่งออกแต่ต้องไม่เหลื่อมล้ำ ต้องช่วยการเพาะเลี้ยงของชาวบ้านให้ได้มาตรฐานทัดเทียมบริษัทใหญ่”นายธรณ์กล่าว

 

‘สารี’หนุนนโยบาย’บิ๊กตู่’

 

     เช่นเดียวกับ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่แสดงจุดยืนขององค์กรว่า เรื่องนี้เราสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้จัดการประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย ประมงทำลายล้าง เปิดพื้นที่ให้กลุ่มประมงขนาดเล็กลืมตาอ้าปากได้บ้าง การใช้อุปกรณ์จับปลาหรือสัตว์น้ำทุกขนาด ทุกฤดู นอกจากเป็นสาเหตุของการทำลายแหล่งทรัพยากรทางทะเลแล้ว ยังทำลายความมั่นคงด้านอาหาร เป็นสาเหตุความไม่ปลอดภัยของอาหารทะเลที่ต้องใช้สารเคมีเก็บรักษา ถ้าเรามีประมงขนาดเล็ก จัดการเป็นระบบความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยก็จะกลับมา

 

ประมงพื้นบ้านได้อานิสงส์

 

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลายจังหวัดที่มีการทำประมงว่า เรือประมงขนาดใหญ่ยังคงจอดเทียบท่าต่อเนื่อง เพื่อรอดูท่าทีรัฐบาลว่าจะช่วยเหลืออย่างไร หลังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับเรือประมงผิดกฎหมาย โดยที่จ.สงขลา หลังเรือประมงใหญ่หยุดออกทะเล ชาวเรือประมงพื้นบ้านชุมชนเก้าเส้ง เขตเทศบาลนครสงขลา ยังคงออกทะเลตามปกติทุกเช้า และนำมาจำหน่ายในตลาด ซึ่งราคาสัตว์น้ำจากเรือประมงพื้นบ้านใกล้เคียงหรือสูงกว่าสินค้าที่ได้จากเรือประมงพาณิชย์ แต่คุณภาพสดกว่า เพราะจับและจำหน่ายรายวัน ซึ่งการที่เรือประมงขนาดใหญ่หยุดออกทะเลทำให้สินค้าประมงพื้นบ้านขายได้ราคาดีขึ้น

 

อาหารทะเลหาดใหญ่ขายปกติ

 

     ส่วนในตลาดสดพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาวันนี้ ยังมีอาหารทะเลขายตามปกติทุกชนิดและยังไม่ปรับขึ้นราคา โดยแม่ค้าเผยว่า ต้องรอดูสถานการณ์หลังวันที่4 กรกฎาคม วันดีเดย์ที่เรือประมงในจ.สงขลาจะหยุดเดินเรือพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งอาหารทะเลอาจขาดแคลนและราคาเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่น่าจะขาดตลาด เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่สั่งมาจากฝั่งอันดามัน

 

ประมงปัตตานีบุกพบผู้ว่าฯ3กค.

 

     ขณะที่นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานีเผยว่า จากมาตรการของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงปัตตานีได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก เพราะเรือประมงส่วนใหญ่จดทะเบียนถู กต้อง จนถึงขณะนี้เรือประมงยังออกเดินเรือตามปกติ ยกเว้นเรือที่มีปัญหาอยู่ประมาณ 54 ลำคือ ยังไม่มีอาชญาบัตร หรือใช้เครื่องมือผิดประเภทก็ไม่กล้าออกเรือ ในจ.ปัตตานีมีเรือทั้งหมด 3,000 ลำ เป็นเรือประมงพานิชย์ 2,700 ลำ ส่วนข่าวที่ออกมาว่าชาวประมงจะชุมนุมวันที่ 3 กรกฎาคมนั้น ตนสอบถามแกนนำชาวประมงแล้ว ความจริงไม่ได้เป็นการประท้วงหรือนัดปิดอ่าว แต่เป็นเพียงการรวมตัวมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อแสดงให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่า ชาวประมงเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้

 

 

หอค้า4จว.ขอผ่อนผัน2ดือน

 

     เช่นเดียวกับ นายปรีชา ศิริแสงอารัมพี ประธานหอการค้า จ.สมุทรสาครกล่าวหลังหารือกับหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 4 จังหวัดประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ว่า 4 หอการค้าวอนรัฐบาลเมตตาผ่อนผันไปอีก 2เดือน โดยขอให้มีการแบ่งโซนการจับปลาของเรือประมงแต่ละประเภท และคงต้องจับปลาที่ตัวใหญ่ขึ้น เช่น กำหนดอวนตาใหญ่ขึ้น โดยให้รัฐบาลเรียกเรือประมงแต่ละประเภทไปทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ขณะนี้เรือประมงจำนวนมากไม่ออกจับปลาส่งผลกระทบมากทั้งระบบ ตั้งแต่โรงงานแปรรูป 5,700 แห่ง โรงน้ำแข็ง แพปลารวมถึงผู้บริโภค

 

 

 

ขอขอบคุณที่มา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า