แบ่งเขตทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ลดความขัดแย้ง

 

     นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำสูง เช่น อวนล้อม อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนล้อมครอบช้อนยกปลากะตัก และมีอุปกรณ์ช่วยในการทำประมง ออกทำการประมงในเขต 6 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรือประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ทำการประมงและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันและทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้น จากประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จึงได้มีมติเห็นชอบตามที่กรมประมงเสนอให้แบ่งเขตทำการประมงสำหรับเรือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อลดข้อขัดแย้งและไม่ให้เกิดผลกระทบ ต่อประชากรสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

     การแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ในฝั่งอ่าวไทยกำหนดเขตประมงทะเลพื้นบ้านโดยให้ห่างจากขอบน้ำชายฝั่งทะเล 6 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 11,112 เมตร และห่างจากขอบน้ำชายฝั่งของเกาะ1.62 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 3,000 เมตร ยกเว้นเกาะขนาดใหญ่ ได้แก่เกาะกูด เกาะช้าง เกาะสีชัง เกาะพงัน และเกาะสมุย ให้ห่าง 3 ไมแบ่งเขตทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ลดความขัดแย้งล์ทะเลหรือประมาณ 5,560 เมตร สำหรับฝั่งอันดามันกำหนดเขตประมงทะเลพื้นบ้าน โดยให้ห่างจากชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล และห่างจากเกาะ 1.62 ไมล์

     ทะเล ส่วนเขตประมงพาณิชย์ให้อยู่นอกเขตประมงพื้นบ้าน ซึ่งคณะกรรมการ ศปมผ.จะเร่งเสนอ ให้กรมอุทกศาสตร์ จัดทำแผนที่ให้ชัดเจนต่อไป

     ทั้งนี้ จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงพื้นที่ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล เมื่อวันที่ 3-5 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าชาวประมงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์เพื่อลดความขัดแย้ง โดยฝั่งอ่าวไทยชาวประมงมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกัน ตั้งแต่ 1.62-12 ไมล์ทะเล ส่วนฝั่งอันดามันเห็นว่า เขตประมงพื้นบ้านควรอยู่ภายในระยะห่างฝั่งตั้งแต่ 1.62-3 ไมล์ทะเลประกอบกับข้อมูลทางวิชาการ ได้แก่ สภาพทางภูมิศาสตร์ แหล่งเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงพื้นที่ที่มีความสำคัญทางทะเล เช่น เขตอุทยานแหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล พื้นที่จัดวางปะการังเทียม และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือต่างๆ ของชาวประมงในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์

     "นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ศปมผ.ยังมีมติเห็นชอบให้กำหนดวันหยุดทำการประมงอวนล้อมจับ ยกเว้นอวนล้อมจับปลากะตักโดยกำหนดให้เรืออวนล้อมจับฝั่งอ่าวไทย หยุดทำการประมงวันที่ 1-3,11-13 และ 21-23 รวม 9 วันของทุกเดือน พร้อมให้เรืออวนล้อมจับฝั่งทะเลอันดามัน และเรืออวนลากฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันหยุดทำการประมงวันที่ 1-3 และ 11-12 รวม 5 วัน ของทุกเดือน โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2558 นี้ เพื่อประเมินผลและพิจารณามาตรการต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการประมงทะเลให้เกิดความยั่งยืน" อธิบดีกรมประมงกล่าว

 

ที่มา :: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง