ไทยผนึกกำลังนานาชาติเดินหน้าวางแผนหยุดประมงผิดกฎหมาย

 

 

นับตั้งแต่ประเทศไทยถูกจับตามองจากทั่วโลก กรณีพบปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) กรมประมงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับบทบาทหนักในการเดินหน้าแก้ปัญหามาตลอด เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกอีกครั้ง ในฐานะประเทศผู้มีชื่อเสียงด้านการส่งออกและแหล่งตลาดด้านการค้าอาหารทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำจืดบางชนิดที่นานาชาติให้ความไว้วางใจ หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การออกกฎหมายเพื่อการลดการทำประมงผิดกฎหมายควบคู่กับอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดและน้ำเค็ม นั่นคือ ประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งประกอบด้วยกฎหมายรองมากถึง 91 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับ IUU จำนวน 52 ฉบับ เช่น การบังคับให้เรือประมงพาณิชย์มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง มีการกำหนดเวลา กำหนดเครื่องมือในการล่าสัตว์น้ำที่อยู่ในขอบเขตเพื่อป้องกันการทำประมงแบบล้างผลาญ

 

วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีกฎหมายรองที่ประกาศใช้ตาม พ.ร.ก.การประมง ซึ่งประกาศใช้จริงทั้งสิ้น 70 ฉบับ ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับ IUU เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญทั้งในประเท ศ ภูมิภาค และทั่วโลก โดยล่าสุดประเทศไทยได้ลงนามกับบางประเทศ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหา IUU ซึ่งประเทศที่ทางรัฐบาลไทยได้ลงนามความร่วมมือไปนั้นมี 8 ประเทศ ได้แก่ ฟิจิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ปาปัวนิวกินี คีรีบาติ สเปน และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

สำหรับรายละเอียดในความร่วมมือนั้นแตกต่างกันไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างเช่น กรณีที่ฟิจินั้น ไทยนำอาหารทะเลเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออก ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นตลาดอาหารแปรรูป ทางรัฐบาลจึงได้ลงนามแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงวิชาการในระดับรัฐมนตรีเพื่อสร้างความเข้มแข็งระหว่างรัฐ โดยให้ฟิจิออกใบรับรองวัตถุดิบเพื่อยืนยันว่าเป็นวัตถุดิบที่ได้มาโดยถูกกฎหมาย ไม่มีการนำเข้าจากเรือประมงผิดกฎหมาย เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประเทศปลายทางที่รับอาหารแปรรูปจากไทยว่าต้นทางของอาหารนั้นมีที่มาที่ไป ซึ่งทางฟิจินั้นมีความพร้อมให้ตรวจสอบย้อนหลังได้

 

ข้อตกลงดังกล่าวคล้ายกับความร่วมมือระหว่างไทยกับไต้หวัน แต่ต่างกันที่ไต้หวันมีเป็นการออกใบขนส่งสินค้า เพื่อให้ไทยตรวจสอบได้ว่าแหล่งที่มาของอาหารที่ไทยนำเข้าจากไต้หวันนั้นมาจากส่วนใดแล้วเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง ณ จุดใดของประเทศบ้าง ซึ่งรายละเอียดส่วนนี้สร้างความสะดวกและมั่นใจให้ทั้งประเทศไทยและประเทศคู่ค้า เมื่อเกิดความร่วมมือลักษณะนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศที่รับสินค้าต่อจากไทย โดยเฉพาะทวีปยุโรปมั่นใจมากขึ้น

 

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยมาเลเซีย นั้นรัฐบาลมีร่างความร่วมมือที่เกิดจากการพบปะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอธิบดีกรมการประมงของมาเลเซีย เพื่อการควบคุมประมงผิดกฎหมายซึ่งน่าจะเป็นการกำหนดเรื่องเรือประมงพาณิชย์เช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำในขณะนี้ ในส่วนของความสัมพันธ์ไทย-ฟิลิปปินส์นั้น รัฐบาลได้ลงนามความร่วมมือเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนผู้สังเกตการณ์ในน่านน้ำเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายทั้งสองประเทศ ขณะที่ข้อตกลงไทย-สเปนคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบติดตามเรืออัตโนมัติ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่และเพิ่มความสะดวกในการติดตามเรือประมงพาณิชย์แต่ละบริษัทอย่างเข้มงวด ขณะที่ประเทศไทยมีการแก้ไขเรื่องระบบควบคุมติดตาม โดยวางระบบให้มีการตรวจสอบตามมาตรฐาน (Monitoring Control System: MCS) เป็นการวางระบบใหญ่ในการควบคุมและติดตามเรือในทะเลทั้งระบบ โดยที่เรือจะต้องทำการติด VMS ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้กว่า 40,000 ลำ แต่จะเจาะจงเฉพาะในเรือที่มีขีดความสามารถสูง คือ เรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 10,000 ลำ โดยทางไทยจะศึกษาเพิ่มเติมจากสเปนเพื่อมาปรับปรุงระบบ

 

ทั้งนี้ในอนาคต อธิบดีกรมประมงระบุว่า การพัฒนาความร่วมมือในอนาคตประเทศไทยจะมีการเพิ่มช่องทางการประกอบกิจการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ศรีลังกา บรูไน พม่า และแอฟริกาตะวันออก ซึ่งรายละเอียดต้องหารือกับประเทศที่ทางไทยจะร่วมมืออีกครั้ง

 

"เรื่องการแก้ปัญหา IUU เป็นเรื่องสำคัญที่ไทยหรือประเทศใดประเทศหนึ่งทำตามลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องมีการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งในระดับประเทศภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาคเพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งให้แต่ละประเทศเร่งรัดการแก้ปัญหาประมง ซึ่งผมเชื่อว่า พระราชกำหนดฉบับปัจจุบันมีความเป็นสากลและเอื้อต่อการป้องกันแก้ไขปัญหา IUU ได้ดี ในอนาคตไทยเองจะมีศักยภาพที่สร้างความเชื่อมั่นในการทำประมงที่มีคุณภาพ" อธิบดีกรมประมงทิ้งท้าย.

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์