IUU ทำโรงงานปลาป่นใกล้สูญพันธุ์ ปิดไปแล้ว 16 อีก 28 แห่งอาการขั้นโคม่า

 

 

“สงวนศักดิ์” นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เผยธุรกิจโรงงานปลาป่นทรุดหนักเจอพิษ 4 เด้ง ปิดตัวแล้ว 16 โรง ที่เหลืออีก 28 โรงร่อแร่ ขาดทุนยับ หลังเหตุประเทศเพื่อนบ้านปิดน่านน้ำ-วิกฤต IUU ยังถูกเวียดนามถล่มราคาเสียบแทนตลาดจีน แถมถูกโรงงานผลิตอาหารกุ้งไทยซ้ำเติมหันนำเข้าจากเวียดนามที่ราคาถูกกว่า ภาษี 0%

 

นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงงานผลิตปลาป่นกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากวัตถุดิบปลาลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2560 ยอดผลิตปลาป่นจะเหลือประมาณ 270,000 ตัน ลดลงไปกว่า 15% หากเทียบปี 2559 มีการผลิตปลาป่นปริมาณ 313,000 ตัน และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลโรงงานปลาป่นที่มีอยู่ทั้งหมด 90 โรงต้องปิดตัวไปแล้ว 16 โรง ส่วนที่เหลืออีก 74 โรง พบว่าในจำนวนนี้มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และอาการค่อนข้างหนักประมาณ 28 โรง และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องหยุดกิจการอีกประมาณ 10 โรง

 

นอกจากนี้ ยอดการส่งออกปลาป่นไปตลาดหลัก คือ ประเทศจีนลดลงอย่างมาก โดยถูกคู่แข่งสำคัญคือ เวียดนามตีตลาด จะเห็นได้จากตัวเลขส่งออกปลาป่นช่วง 6-7 เดือนแรกของปี 2560 เหลือส่งออกเพียง 90,000 ตัน คาดว่ายอดการส่งออกปลาป่นทั้งปีไม่ถึง 100,000 ตัน เทียบกับปี 2558 ไทยส่งออกปลาป่นได้ 159,000 ตัน ปี 2559 ส่งออกได้ 157,000 ตัน เนื่องจากราคาปลาป่นไทยสูงกว่าเวียดนาม และไทยไม่มีผลผลิตจะส่งออก และปัจจุบันได้มีโรงงานผู้ผลิตอาหารกุ้งไทยรายใหญ่หันไปนำเข้าปลาป่นจากประเทศเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่าปลาป่นของไทย และมีภาษีนำเข้า 0%

 

ปัญหาวัตถุดิบปลาลดลงมีมาต่อเนื่องประมาณ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ห้ามเรือประมงไทยเข้าไปจับปลาในน่านน้ำ และมาถึงสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) ดังนั้น หากจัดแบ่งสถานะโรงงานปลาป่น 74 โรงที่เหลือ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 1)โรงงานปลาป่นในเครือบริษัทส่งออกอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่แข็งแรง 10 โรง โดยเฉพาะโรงงานส่งออกปลาทูน่า ทำให้มีเศษที่เหลือจากการทำปลาทูน่ากระป๋องอย่างสม่ำเสมอ แต่ตอนนี้ทูน่าแพงอาจจะผลิตน้อยลง แต่ยังมีทำ ไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากปลาของเรือประมงไทย

 

2)โรงงานปลาป่นที่มีเรือประมงของตัวเองออกไปจับปลา มีวัตถุดิบเข้าโรงงานมากกว่า 50% มี 36 โรง โดยบริษัทเหล่านี้จากเดิมอาจจะมีเรือประมงจำนวนมาก แต่เมื่อถูกจัดระเบียบตามกฎของอียู และกรมประมงทำให้เหลือเรือประมงออกจับปลาได้เพียงไม่กี่ลำ และ 3)โรงงานปลาป่นที่มีวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานลดลงต่ำกว่า 50% มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ประมาณ 28 โรง และในจำนวนนี้มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องหยุดกิจการประมาณ 5-10 โรง โดยบริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจหลายประเภท จึงใช้วิธีการนำเงินจากธุรกิจอื่นมาประคับประคองธุรกิจโรงงานปลาป่นไว้

 

“ช่วงนี้ธุรกิจประมงแย่ จำนวนเรือประมงหายไปจำนวนมาก โรงงานปลาป่นก็ย่ำแย่ วัตถุดิบน้อย วัตถุดิบไม่มี ทั้งปลาจากเรือประมง และปลาจากเศษซากซูริมิ ปลาป่นจากที่เคยผลิตได้สูงสุดเกือบ 500,000 ตัน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท พอมาเจอเรื่อง IUU ทยอยลดลงเรื่อย ๆ ปีนี้อาจจะเหลือไม่ถึง 270,000 ตัน ส่งผลให้ธุรกิจโรงงานปลาป่นประสบปัญหามาก อย่าง 28 โรงที่ยังเปิดอยู่ ลำพังธุรกิจปลาป่นเองไปไม่ไหวแล้ว ทำแบบซังกะตายไปวัน ๆ แต่ที่ผ่านมาไม่หยุดดำเนินธุรกิจ เพราะมีธุรกิจหลายอย่าง เพื่อรอเวลาให้โรงงานอื่นปิดตัวกันไปก่อน เช่น จังหวัดหนึ่งมีโรงงานปลาป่น 5 โรง หากรายอื่นปิดกิจการไปสัก 2 โรง ที่เหลือ 3 แห่ง จะขายได้ เรื่องนี้ต้องคนสายป่านยาวถึงทำได้ ถ้าคนทำธุรกิจปลาป่นอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกกิจการไป และอีกปัญหาคือ กิจการโรงงานปลาป่นเป็นธุรกิจที่ขายไม่ออก โรงงานจะไปให้เช่าก็ไม่มีคนเอา ลูกหลานไม่เอา กิจการไม่มีใครซื้อ อาจจะขายที่ดินไป” นายสงวนศักดิ์กล่าว

 

นายสงวนศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ในเร็ว ๆ นี้สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยจะมีการประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมฯคนใหม่ หลังจากที่ตนดำรงตำแหน่งมา 5 สมัยรวมเวลา 10 ปีแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละคนมีธุรกิจส่วนตัวไม่มีเวลา ตนจึงรับตำแหน่งต่อเนื่องมา และคงจะไม่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ทั้งนี้ คนที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต้องเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ต่าง ๆ มีความจัดเจน และประสบการณ์สูง ซึ่งตอนนี้มีตัวเก็งอยู่ 2-3 คน

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์