ไทยแจงแก้ค้ามนุษย์ในประมงเข้ม หลังข่าวสะพัดแรงงาน 1 ใน 3 มีปัญหา พบทำผิดดำเนินตามกฎหมายทันที

 

 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน เปิดเผยถึง กรณีสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าว องค์กรเอกชนต่อต้านการค้ามนุษย์ อินเตอร์เนชันแนล จัสติส มิชชัน (ไอเจเอ็ม) ออกผลสำรวจโดยลงพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมประมงในไทยรวม 20 แห่งเมื่อปี 2559 ระบุว่าคนงานต่างชาติบนเรือประมงไทยราว 1 ใน 3 ต้องทำงานใช้หนี้ โดยได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และถูกทำร้ายร่างกาย ว่า การแก้ไขปัญหาใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมง ประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศปมผ. กรมเจ้าท่า กรมประมง เป็นต้น ร่วมกันตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า-ออกทุกลำ ณ ศูนย์ PIPO โดยจะตรวจสอบรายชื่อลูกจ้างให้ตรงกับที่แจ้งไว้ ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน กรณีสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการค้ามนุษย์หรือกระทำผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในทันที

 

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจเรือประมงในปี 2559 จำนวน 956 ครั้ง จำนวนเรือที่ผ่านการตรวจ 891 ลำ พบเรือกระทำผิด 18 ลำ เป็นการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด 1 ลำ 1 คน และในการคัดกรองการทำ seabook ของลูกจ้างเรือประมงจำนวน 4 หมื่นกว่าคน พบการกระทำผิด 4 พันกว่าคน ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและดำเนินคดีกับนายจ้างแล้ว นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ ILO จัดทำโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights) และ NGO จัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมพนักงานตรวจแรงงาน เป็นการเพิ่มศักยภาพการตรวจแรงงานและสัมภาษณ์เพื่อหาข้อเท็จจริงการใช้แรงงานบังคับ

 

“นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว กระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541อัตราโทษสำหรับการใช้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจะมีโทษปรับ 4-8 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ รวมทั้ง จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการกระทำผิด โดยมีทีมหาข่าวล่วงหน้าร่วมกับ NGO ลงพื้นที่ หากพบการกระทำความผิดจะส่งข้อมูลให้ชุดตรวจเข้าตรวจอย่างเข้มข้น และดำเนินคดีทันที” นายสุเมธ กล่าวและว่าทั้งนี้ จากมาตรการต่างๆ และการดำเนินการอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 20 กันยายน กระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศจัดลำดับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยยกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) ประจำปี 2559 ซึ่งเลื่อนลำดับจากประเทศที่มีความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) เมื่อปี 2558

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์