3 กรกฎาคม 2568
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของเคนยา ได้ประกาศมาตรการถอดถอนและจำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายในเคนยา ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการปกป้องสุขภาพของประชาชน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัย
กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่าได้สรุปผลการทบทวนอย่างรอบด้าน (Comprehensive Review) เกี่ยวกับส่วนประกอบของยาฆ่าแมลงที่มีการจดทะเบียนในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการด้านผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช (Pest Control Products Board : PCPB) ที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ และมีหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช (PCP) ในเคนยาว่าปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
โดยการประเมินในครั้งนี้ ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์กว่า 430 รายการ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศ ซึ่งถอดถอนยาฆ่าแมลง 77 รายการ และจำกัดการใช้ 202 รายการ ตามลักษณะความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกกว่า 151 รายการ
คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2568 และในระหว่างนี้ได้ห้ามใช้หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ทั้ง 151 รายการ ข้างต้น
กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า จากการประเมินทางวิทยาศาสตร์และหารือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ระบุส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ (Active Ingredients) และผลิตภัณฑ์ปลายทางที่เกี่ยวข้อง (Associated End-Use Products) ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงขั้นรุนแรง การดำเนินงานครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของเคนยาในการนำแนวทางปฏิบัติของสากลมาใช้ เพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาหาร และสนับสนุนความยั่งยืนด้านการเกษตร
การกำหนดกฎระเบียบที่สำคัญ
• ต้องมีการลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ PCP ทั้งหมดในประเทศต้นกำเนิดก่อนที่จะลงทะเบียนในเคนยา
• ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดที่ห้าม ภายใต้ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
• ระงับการนำเข้าสารที่อยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย หรือแคนาดา จนกว่าการประเมินขั้นสุดท้ายจะเสร็จสิ้น
ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ผ่านการให้ความรู้ และการส่งเสริมการจำกัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและดีต่อสิ่งแวดล้อมแทนการควบคุมศัตรูพืชโดยสารเคมี
ทั้งนี้ รายการส่วนผสมที่ได้รับการตรวจสอบและจำกัดการใช้ ได้แก่;
o 2,4-D Amine (สารกำจัดวัชพืช) : จำกัดและห้ามใช้ในการปลูกกาแฟ
o Abamectin (สารกำจัดไร) : ไม่เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่โล่ง
o Chlorpyrifos และ Dimethoate (สารกำจัดแมลง) : สำหรับใช้กำจัดปลวกเท่านั้น
o Imidacloprid และ Omethoate (สารกำจัดแมลง) : สำหรับใช้ในพื้นที่ปิดและพืชที่ไม่ใช้รับประทาน
o Propineb และ Iprodione (สารป้องกันรา) : ห้ามใช้สำหรับพืชที่ใช้รับประทาน
o Oxydemeton-methyl (สารกำจัดแมลง) : การนำเข้าจะถูกระงับจนกว่าจะมีการสรุปผลการตรวจสอบ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ประกาศว่า ร่างกฎระเบียบผลิตภัณฑ์ควบคุมพืช มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกรอบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย และจะนำเสนอต่อรัฐสภาในเร็ว ๆ นี้
การพัฒนาด้งกล่าวเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของเคนยาในการจัดการศัตรูพืชที่ปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเกษตรกร ผู้จัดจำหน่าย และหน่วยงานกำกับดูแล ปฏิบัติตามมาตรการใหม่อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา : Farmers review Africa สรุปโดย : มกอช.