4 กรกฎาคม 2568
ในการประชุมคณะกรรมการองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าด้วยมาตรการทางเทคนิคที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade : TBT) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 คณะผู้แทนจากอินโดนีเซียนำโดย Ahmad Haikal Hasan หัวหน้าสำนักงานรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (The Halal Product Assurance Organizing Agency : BPJPH) ยืนยันนโยบายการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นฮาลาล และการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของโครงการลงทะเบียนใบรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
o การติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นฮาลาล
ความกังวลหลักจากประเทศคู่ค้าในปัจจุบันคือ การส่งออกสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองฮาลาลหรือไม่สามารถรับการรับรองฮาลาลไปยังอินโดนีเซีย นาย Hasan ระบุว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอุปสรรคทางการค้า และยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นฮาลาลยังคงส่งออกไปยังอินโดนีเซียได้
โดยสินค้าที่ทำจากส่วนผสมที่ไม่เป็นฮาลาลยังคงสามารถนำเข้า จัดจำหน่าย และซื้อขายได้ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือความโปร่งใสต่อผู้บริโภค ผ่านการมีฉลาก “ไม่ใช่ฮาลาล” บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถติดสินใจเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง และเลือกซื้อสินค้าที่มีความหลากหลายได้อย่างต่อเนื่อง
o ระยะเวลาและการลงทะเบียนที่ปรับปรุงใหม่
BPJPH ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการรับรองภาคบังคับ ตามกฎระเบียบ ฉบับที่ 42 ปี 2567 กำหนดให้วันสุดท้ายในการรับรองฮาลาลภาคบังคับสำหรับอาหารนำเข้า เครื่องดื่มนำเข้า และการบริการเชือดสัตว์นำเข้าเลื่อนออกเป็นวันที่ 17 ตุลาคม 2569 และจะมีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 18 ตุลาคม 2569 เพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันฮาลาลที่ลงทะเบียนกับ BPJPH ผ่านระบบออนไลน์ SiHalal โดยจะมีการออกหมายเลขทะเบียนเฉพาะที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถติดตามสถานะของผลิตภัณฑ์ได้ ทั้งนี้อนุญาตให้มีตัวเลือกการติดฉลากสองแบบคือ;
• แสดงฉลากฮาลาลของอินโดนีเซียพร้อมหมายเลขลงทะเบียนใบรับรองจากต่างประเทศอยู่ด้านล่าง
• แสดงฉลากฮาลาลของอินโดนีเซียคู่กับโลโก้และหมายเลขทะเบียนของหน่วยงานฮาลาลต่างประเทศ
ที่ได้รับการรับรอง
o ความร่วมมือระหว่างประเทศและแนวโน้มในอนาคต
นาย Hasan เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียต่อความมือระหว่างประเทศ โดยเมื่อมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Agreements : MRAs) กับหน่วยงานรับรองฮาลาลจากต่างประเทศกว่า 87 แห่ง ใน 32 ประเทศ เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์การค้าฮาลาลระดับโลก และเน้นย้ำว่าอินโดนีเซียยังคงเปิดกว้างสำหรับการร่วมมือกับผู้รับรองฮาลาลสากลอื่น ๆ ต่อไป
ที่มา : Food.chemlinked สรุปโดย : มกอช.