1 กรกฎาคม 2568
รัฐบาลมาเลเซียประกาศเก็บภาษีและการบริการ (Sales and Services Tax : SST) 5% สำหรับผลไม้นำเข้าทั้งหมด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตในท้องถิ่นและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ขณะเดียวกันส่งผลให้เกิดความกังวลแก่ผู้ประกอบการที่นำเข้าผลไม้ ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคภายในประเทศจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ปัจจุบันมาเลเซียยังคงนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมากกว่าส่งออก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งจำกัดการปลูกผลไม้พันธุ์ยอดนิยมหลายชนิดในประเทศ โดยเฉพาะผลไม้เขตอบอุ่น (Temperate Fruit) และผลไม้ตามฤดูกาล (Seasonal Fruit) ส่งผลให้การนำเข้ามีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ
ตามข้อมูลของ EastFruit ปี 2567 มาเลเซียนำเข้าผลไม้เปีนอันดับที่ 31 ของโลก โดยมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงเวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย และไทย เท่านั้นที่นำเข้าสินค้ามากกว่า โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าผลไม้ของมาเลเซียเพิ่มขึ้น 30% สะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ขยายตัวและการเติบโตของตลาด การเติบโตนี้ไม่เพียงแต่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาส่วนต่าง ๆ เช่น โลจิสติกส์ ระบบการจัดการรักษาอุณหภูมิ (cold chain infrastructure) และธุรกิจนำเข้าที่ยังมีส่วนสนับสนุนการส่งออก รวมถึงช่วยส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารขนาดใหญ่
คาดการณ์ว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาค้าปลีกผลไม้นำเข้าสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้การซื้อลดลง โดยเฉพาะผลไม้ที่มีราคาสูง เช่น เบอรี่ อะโวคาโด เชอร์รี่ และผลไม้เมล็ดแข็ง สินค้ากลุ่มดังกล่าวมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากเน่าเสียง่ายและข้อกำหนดด้านการขนส่ง การเพิ่มภาษีอาจเข้ามาจำกัดการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับราคา โดยคาดว่ามาตรการเพิ่มภาษีผลไม้นำเข้าครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เช่น แอปเปิ้ล องุ่น และพืชตระกูลส้มบางชนิดไม่นิยมปลูกในประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ
มาเลเซียยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับประเทศผู้ส่งออกผลไม้ เช่น จีน อียิปต์ ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ การเพิ่มภาษีนำเข้าครั้งนี้อาจลดความสามารถการแข่งขันของสินค้านำเข้า ผู้ส่งออกเหล่านี้อาจต้องเปลี่ยนไปเน้นตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเงื่อนไขการนำเข้าที่อำนวยมากกว่า ทั้งนี้กิจกรรมทางการค้าและโอกางทางธุรกิจที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าในประเทศและซัพพลายเออร์ต่างชาติ ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://mysst.customs.gov.my/PressRelease และ https://www.mof.gov.my/portal/en/news/press-release/clarification-on-sst-expansion
ที่มา : Fresh Plaza สรุปโดย : มกอช