3 กรกฎาคม 2568
ข้อมูลประจำปีล่าสุดจากหน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter และ Salmonella ในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับปีก่อน พร้อมเตือนประชาชนใช้มาตรการป้องกันแบคทีเรียเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
กรณีเชื้อ Campylobacter
พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 17.1% จาก 60,055 รายในปี 2566 เป็น 70,352 รายในปี 2567 หรือคิดเป็น 121.9 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยพบมากในผู้ป่วยช่วงอายุ 50–79 ปี คิดเป็น 44% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
กรณีเชื้อ Salmonella
พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 17.1% จาก 8,872 รายในปี 2566 เป็น 10,388 ราย ในปี 2567 โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งคิดเป็น 21.5% ของผู้ป่วยทั้งหมด
ทั้งนี้ การติดเชื้อ Campylobacter และ Salmonella มักมาจากการบริโภคอาหารปนเปื้อน เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ ผักผลไม้ดิบ หรือผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ รวมถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว หรือการปนเปื้อนข้ามระหว่างอาหารดิบและอาหารที่ปรุงแล้วจากอุปกรณ์ในครัว (Cross-Contamination)
ทั้งนี้ FSA ได้เปิดตัวแคมเปญใหม่เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากภาวะอาหารเป็นพิษ และยังร่วมมือกับภาคเอกชนหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัยอาหารได้อย่างถูกต้อง
โดยแนวทางป้องกันอาหารเป็นพิษในพื้นที่อยู่อาศัยยึดหลัก 4C มีดังนี้
• Cooking: ปรุงอาหารอย่างถูกต้องโดยปฏิบัติตามคำแนะนำด้านเวลาและอุณหภูมิบนฉลากผลิตภัณฑ์
• Chilling: แช่เย็นอาหารให้ต่ำกว่า 5 °C วิธีนี้จะช่วยหยุดหรือชะลอการเติบโตของแบคทีเรีย
• Cleaning: ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทำอาหารอย่างทั่วถึง
• Cross-contamination: หลีกเลี่ยงการปนเปื้อน ซึ่งอาจทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายจากอาหารดิบไปยังอาหารพร้อมรับประทานผ่านสิ่งของต่างๆ เช่น ถุงช็อปปิ้งที่ใช้ซ้ำ มีด เขียง ผ้า และโต๊ะเตรียมอาหาร
นอกจากนี้ควรบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ภายในวันหมดอายุ (Use By Date) และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลระหว่างการเตรียมอาหารเพื่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : foodsafety สรุปโดย : มกอช.